ความรู้เกี่ยวกับการปลูกถ่ายไขกระดูก


การปลูกถ่ายไขกระดูกคืออะไร

การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem cell Transplantation)
เป็นการรักษาผู้ป่วยโดยการนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดมาให้แก่ผู้ป่วย
ทางหลอดเลือดดำ เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ที่นำมาให้จะสามารถ
เคลื่อนเข้าไปในโพรงกระดูกของผู้ป่วย และแบ่งตัวสร้างเม็ดเลือดใหม่ได้

ชนิดของการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด

1. Allogeneic stem cell transplantation
วิธีนี้ต้องการเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากพี่น้องท้องเดียวกัน ซึ่งมี HLA
(Human Leucocyte Antigen) ที่เข้ากันได้ระหว่างผู้บริจาคและผู้รับ เป็นวิธีที่ใช้บ่อยที่สุด
แต่โอกาสที่พบพี่น้องที่มี HLA ตรงกับผู้ป่วย จะมีเพียงร้อยละ 25-30

2. Autologous stem cell transplantation
เป็นวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด โดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
ของผู้ป่วยเองเก็บแช่แข็งในไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ -120 องศา หรือ -196 องศา
แล้วนำกลับมาให้ผู้ป่วยในเวลาที่เหมาะสม

3. Syngeneic stem cell transplantation
เป็นการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด จากพี่น้องฝาแฝด
ที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน (Identical twin)

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้บริจาค

ก่อนการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ผู้บริจาคจะได้รับการตรวจร่างกาย
ตรวจเลือด เอ็กซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ทำได้ 3 วิธี

1. การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ทางหลอดเลือดดำ

(วิธี Peripheral blood stemcells collection) เป็นวิธีการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากกระแสเลือด
    1.1 ผู้บริจาคต้องฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดขาวก่อนวันบริจาค 4 วัน โดยฉีดวันละ 1 ครั้ง
ผู้บริจาคไม่จำ เป็นต้องนอนโรงพยาบาล
    1.2 ผู้บริจาคจะได้ยาแคลเซียมรับประทาน เพื่อป้องกันอาการชาระหว่างการเก็บเซลล์
    1.3 ผู้บริจาคอาจต้องได้รับการใส่สายสวนเข้าหลอดเลือดดำ (Double lumencatheter)
ก่อนวันบริจาค เป็นสายที่ใส่ไว้เพื่อเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ผู้บริจาคควรระมัดระวัง
ดูแลให้ปากแผลแห้งอยู่เสมอ
    1.4 ขบวนการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด อาศัยเครื่องมือที่เรียกว่า Automated blood cell separator ซึ่งจะเลือกเก็บเฉพาะเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เม็ดเลือดอื่นๆ จะคืนเข้าร่างกาย
ทั้งหมด การเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดใช้เวลาครั้งละประมาณ 3 ชั่วโมง โดยทั่วไป
จะเก็บ 2-4 ครั้ง เพื่อให้ได้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่เพียงพอ ในระหว่างเก็บเซลล์ ผู้บริจาค
อาจฟังเซาว์เบาท์หรือหาหนังสือไปอ่านได้
    1.5 เซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากผู้บริจาคในแต่ละวัน จะนำไปให้กับผู้ป่วยทันที
    1.6 ในกรณีของผู้ป่วยซึ่งบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดให้ตัวเอง (Autologous stem cell transplantation) เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจะถูกนำไปเก็บแช่แข็งในไนโตรเจนเหลว
ที่อุณหภูมิ -120 องศา หรือ -196 องศา จนกว่าจะนำมาคืนให้ผู้ป่วย

ภาวะแทรกซ้อนที่พบระหว่างการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
    (1) ภาวะแคลเซี่ยมในเลือดต่ำ ผู้บริจาคอาจมีอาการชารอบ ๆ ปาก ปลายมือ ปลายเท้า
ถ้าเป็นมากๆ อาจมีอาการมือลีบได้ ซึ่งป้องกันได้โดยการรับประทานแคลเซี่ยม
หรือฉีดยา Calcium gluconate ทางหลอดเลือด ในรายที่มีอาการมาก ๆ
    (2) ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ ซึ่งแพทย์จะสั่งให้เกร็ดเลือดชดเชย ถ้าพบมีเกล็ดเลือดต่ำระหว่าง
การเก็บไขกระดูก ซึ่งมักพบในกรณีที่เก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากตัวผู้ป่วยเองมากกว่า

การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน
     1. ผู้บริจาคควรทำความสะอาดแผลจากการถอดสายสวนหลอดเลือดดำ ด้วย 70 % Alcohol หรือ Betadine วันละ 1-2 ครั้ง นาน 1-2 วัน
     2. หากรอบ ๆ แผลมีอาการปวดบวม แดง ร้อน หรือมีอาการไข้ควรมาพบแพทย์
     3. การปฏิบัติตัวอื่น ๆ ตามปกติ
     4. ผู้บริจาคควรบริจาคเกร็ดเลือดให้ผู้ป่วยได้เป็นระยะ ๆ
     5. ผู้บริจาคสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติหลังจากพัก 2-3 วัน

2. การบริจาคไขกระดูกแบบเจาะจากโพรงไขกระดูก 
(Bone Marrrow Harvest) เป็นวิธีการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด จากโพรงกระดูก
ส่วนใหญ่มักใช้บริเวรสะโพกด้านหลัง
     2.1 ผู้บริจาคต้องมาเก็บเลือดไว้ที่ธนาคารเลือดก่อนวันบริจาค 2 สัปดาห์
     2.2 ผู้บริจาคต้องมาอยู่โรงพยาบาลก่อนวันบริจาค 1 วัน
     2.3 เมื่อเข้าอยู่โรงพยาบาลต้องอาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดสะโพกด้านหลังทั้งสองข้าง
ด้วยการทายาฆ่าเชื้อโรคในเย็นวันก่อนวันบริจาค
     2.4 งดน้ำและอาหารทุกชนิดหลังเที่ยงคืนก่อนวันบริจาค
     2.5 หลังจากผู้บริจาคหลับจากการใช้ยาสลบ แพทย์จะเจาะไขกระดูกจากบริเวณสะโพกด้าน
หลังทั้งสองข้าง ประมาณ 3-5 ตำแหน่ง เพื่อดูดเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ใช้เวลา
ประมาณ 2-3 ชั่วโมง
     2.6 เมื่อได้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเพียงพอแล้ว (10-15 มล/น้ำหนักตัว 1 ก.ก.) แพทย์
ปิดแผลที่สะโพกด้วยผ้าก๊อส และเทนโซพลาสให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออก
     2.7 เมื่อฟื้นจากยาสลบ ผู้บริจาคอาจรู้สึกเจ็บคอ คอแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน จากการดมยา
สลบ เมื่อหมดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ให้รับประทานอาหารได้
     2.8 หลังเจาะไขกระดูกผู้บริจาคอาจมีอาการปวดแผลได้ แพทย์จะสั่งยาแก้ปวดไว้ให้รับประทาน
     2.9 ผู้บริจาคจะได้รับเลือดที่เก็บไว้เมื่อกลับจากห้องผ่าตัด
     2.10 หลังทำแผลแล้วในวันรุ่งขึ้น ผู้บริจาคสามารถกลับบ้านได้ และรับประทานยาบำรุงเลือด
(Ferrous sulphate) นาน 3 เดือน

การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน
     (1) ควรทำความสะอาดแผลด้วย 70% Alcohol 1-2 วัน
     (2) อาจมีอาการปวดแผลได้เล็กน้อย ซึ่งอาจรับประทานยาแก้ปวดได้ แต่ถ้าปวดมาก
และบริเวณแผลมีอาการบวม แดง ร้อน ผู้บริจาคต้องมาพบแพทย์
     (3) การปฏิบัติตัวอื่น ๆ ตามปกติ แนะนำให้พักงาน 5-7 วัน หลังการบริจาค
     (4) ผู้บริจาคควรมาบริจาคเกร็ดเลือดให้ผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย

ผู้ป่วยควรคุยกับแพทย์ถึงขั้นตอนและผลการรักษา ด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
อย่างละเอียดก่อนการเข้ารักษาในโรงพยาบาล

ขั้นตอนการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน
1. ระยะก่อนปลูกถ่ายเซลล์
2. ระยะปลูกถ่ายเซลล์
3. ระยะหลังปลูกถ่ายเซลล์

1. ระยะก่อนปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด

1.1 ผู้ป่วยอยู่ในห้องปลอดเชื้อตลอดการรักษาภายในห้องติดเครื่องกรองอากาศ (HEPAfilter)
ซึ่งจะช่วยให้ภายในห้องไม่มีเชื้อรา ฝุ่นละอองลดน้อยลง ทั้งนี้เนื่องจากหลังให้ยาเคมีบำบัด
ผู้ป่วยจะมีเม็ดเลือดขาวต่ำ มากทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ดังนั้น
         - ผู้ที่เข้าไปภายในห้องผู้ป่วยต้องสวมผ้าปิดปาก-จมูก (mask) เพื่อป้องกัน
           การแพร่เชื้อโรคจากผู้เยี่ยมไปสู่ผู้ป่วย
         - ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
         - ถ้าผู้เยี่ยมไม่สบาย ห้ามเข้าเยี่ยม
         - ต้องไม่ไปเยี่ยมผู้ป่วยอื่น ๆ มาก่อน

อาหารของผู้ป่วย
         - ต้องเป็นอาหารซึ่งทำเสร็จใหม่ ๆ อุ่นในไมโครเวฟ นาน 5 นาที ก่อนให้ผู้ป่วยรับประทาน
         - ห้ามผู้ป่วยรับประทานผักสด ผลไม้ ตลอดการรักษา
         - นมสด ต้องเป็นชนิด Sterilized

1.2 ผู้ป่วยต้องได้รับการใส่สายสวนเข้าหลอดเลือดดำเลี้ยงหัวใจ (Right atrialcatheter)
ซึ่งเป็นสายสำหรับ ให้ยาเคมีบำบัด สารอาหาร เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดและดูดเลือด
เพื่อส่งตรวจ สายนี้มีความสำคัญมาก จะต้องอยู่กับผู้ป่วยจนกว่าจะได้กลับบ้าน
และเป็นแหล่งสำคัญของการติดเชื้อ ผู้ป่วยจึงต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ หากบริเวณปากแผล
มีอาการเจ็บปวด ต้องรีบบอกแพทย์หรือพยาบาลทราบ  การป้องกันการติดเชื้อ คือต้องดูแล
ให้บริเวณแผลแห้งอยู่เสมอ นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องระวังเวลาเปลี่ยนอิริยาบท เพราะอาจทำให้
สายดึงรั้งหลุดออกมาได้

1.3 ผู้ป่วยจะได้รับยาเคมีบำบัดและ/หรือการฉายรังสีรักษาทั่วร่างกาย เพื่อทำให้เซลล์
ผิดปกติหมดไปจากร่างกาย ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งแพทย์
จะให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนบรรเทา นอกจากนี้ อาจมีอาการท้องเสีย สิ่งสำคัญในระยะนี้คือ
ผู้ป่วยจะเริ่มรับประทานอาหารไม่ได้ แพทย์จะให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ ดังนั้น
ผู้ป่วยจึงไม่ต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับการรับประทานอาหารไม่เพียงพอ

2. ระยะปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
ระยะนี้ใช้เวลา 1-2 วัน วันละประมาณ 1/2-1 ชั่วโมง ขึ้นกับปริมาณเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
ที่ได้การให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด คล้ายกับการให้เลือดทางหลอดเลือดดำ ระหว่างให้
อาจมีอาการแน่นหน้าอก เล็กน้อย หนาวสั่น ปวดมวนท้อง ท้องเสีย และอาจมีปัสสาวะสี
ปนเลือดได้อาการจะหายไปภายใน 12 ชั่วโมง

3. ระยะหลังปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระยะนี้เกิดจากระดับเม็ดเลือดต่าง ๆ ลดลง เป็นระยะเวลาที่ร่างกาย
กำลังรอให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดใหม่ทำงาน ซึ่งใช้เวลา 10-20 วัน ความผิดปกติ
ที่อาจเกิดขึ้นในระยะนี้ได้แก่

3.1 การติดเชื้อ อาการแสดงที่สำคัญคือการมีไข้ พบในผู้ป่วยทุกราย ดังนั้นหากผู้ป่วย
รู้สึกมีอาการเหมือนเป็นไข้ ต้องรีบแจ้งแพทย์หรือพยาบาลทันที ในระยะนี้แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ
แก่ผู้ป่วอย่างเต็มที่ รวมทั้งยาป้องกันเชื้อรา

3.2 เกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เกิดจ้ำเลือด ภาวะเลือดออกง่าย ในระยะนี้ผู้ป่วยไม่ควรแคะหรือแกะ
โดยเฉพาะจมูก เพราะจะทำให้เลือดออก ผู้ป่วยต้องได้รับเกล็ดเลือดเป็นครั้งคราว ในระยะนี้
ผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ควรมาบริจาคเกล็ดเลือดให้ผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ

3.3 ซีด ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย แพทย์จะสั่งให้เลือดเป็นระยะ ตามผลการตรวจเลือด

3.4 แผลในปาก ทำให้มีอาการเจ็บปาก การบ้วนปากบ่อย ๆ และการรักษาความสะอาดในช่องปาก
จะช่วยบรรเทาได้ อย่างไรก็ตามแพทย์จะให้ยาบรรเทาปวด ถ้าปวดมาก

3.5 ผมร่วง ผู้ป่วยอาจตัดสินใจโกนผมล่วงหน้าได้เพื่อความสะอาดและรู้สึกสบาย
อย่างไรก็ตาม หลังสิ้นสุดการรักษาผมจะขึ้นใหม่เหมือนเดิม

3.6 ผิวแห้ง ในระยะนี้ผู้ป่วยมักจะมีผิดแห้งมาก จึงควรใช้โลชั่นทาผิวและลิปมันทาริมฝีปาก

3.7 ภาวะไขกระดูกต่อต้านผู้ป่วย (Graft versus host disease) เกิดจากการที่เซลล์ต้นกำเนิด
เม็ดเลือดของผู้บริจาคปฏิเสธร่างกายผู้ป่วยพบในร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วย อาการที่พบได้คือ
มีผื่นขึ้น ท้องเสีย ตาเหลือง แพทย์จะให้ยากดภูมิคุ้มกันไว้ตั้งแต่วันแรกของของการปลูกถ่ายเซลล์
ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เป็นการป้องกัน

ที่มา : http://thaibmc.org/story.htm